วิจัยพบคาร์บอนเพิ่มสูงรวดเร็วในอดีตเป็นสาเหตุที่ทำให้ออกซิเจนในทะเลลดลง บ่งชี้ถึงชะตาโลกหายนะในอนาคตเราก็อาจเดินทางสู่ชะตาเดียวกัน
👉🏿 วิจัยพบหลักฐานว่าเมื่อหลายร้อยล้านปีที่แล้ว เหตุการณ์คาร์บอนเพิ่มสูงรวดเร็วเป็นสาเหตุที่ทำให้ออกซิเจนในทะเลลดลง ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง ชี้หากโลกปัจจุบันยังอบอุ่นขึ้น เราก็อาจเดินทางสู่ชะตาเดียวกัน
ตั้งแต่ที่โลกได้ถือกำเนิดขึ้น สภาพภูมิอากาศบนโลกมีการสลับสับเปลี่ยนระหว่างช่วงอากาศหนาวเย็น และช่วงอากาศอบอุ่น ที่วนเวียนกันเป็นวัฏจักร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โลกได้ผ่านยุคน้ำแข็งมาแล้วถึง 5 ครั้งใหญ่ โดยเรากำลังอยู่ในยุคน้ำแข็งที่ 5 หรือยุคน้ำแข็งควอเทอร์นารี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 2.7 ล้านปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในครั้งที่โลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันนั้น เกิดขึ้นราว 304 ล้านปีที่แล้วในช่วง Kasimovian-Gzhelian boundary (KGB) ซึ่งเป็นช่วงที่คาร์บอนในชั้นบรรยากาศ เพิ่มจาก 350 ส่วนในล้านส่วน (parts per million, ppm) มาเป็น 700 ส่วนในล้านส่วน ภายในเวลา 300,000 ปี
งานศึกษาใหม่ที่ได้ตรวจวัดแร่ธาตุ ในหินดินดานเก่าแก่จากจีนพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นทะเลมีปริมาณออกซิเจนลดลงถึง 23% โดยเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ในช่วงที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน เนื่องจากน้ำแข็งที่ละลายจะปลดปล่อยน้ำจืดสู่ผิวน้ำทะเล ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนระหว่างทะเลและชั้นบรรยากาศเป็นไปได้ยากขึ้น
ดังนั้นเมื่อทะเลอยู่ภายใต้ภาวะ anoxia หรือภาวะขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง สิ่งมีชีวิตจำนวนมากก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยนักวิจัยได้ตรวจพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึง การลดลงครั้งใหญ่ของความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงในช่วง KGB
ทั้งนี้นักวิจัยยังไม่สามารถตรวจหาสาเหตุที่ก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว แต่คาดว่าอาจเกิดจากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด และไฟป่า ไปจนถึงการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง
โดยข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าในยุคน้ำแข็ง โลกของเราอาจมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่า โลกในยุคอบอุ่น ที่น่าจะมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงอยู่แล้ว
“บันทึกจากโลกดึกดำบรรพ์ และแบบจำลองความเปลี่ยนแปลง ในวัฏจักรของสารแสดงให้เราเห็นอย่างชัดแจ้งว่า หากอากาศยังอบอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ มหาสมุทรในโลกปัจจุบันจะต้องเผชิญกับการลดลงครั้งใหญ่ของออกซิเจน” นักวิจัยระบุ