การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC เตือน วิกฤตโลกรวนเข้าใกล้หายนะ
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC เตือน วิกฤตโลกรวนเข้าใกล้หายนะ ต้องเร่งแก้ไขตอนนี้ก่อนสายเกินไป
Now or never!รายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC เตือน วิกฤตโลกรวนเข้าใกล้หายนะ ต้องเร่งแก้ไขตอนนี้ก่อนสายเกินไป วอนเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็วที่สุด สู่เป้าคาร์บอนศูนย์ในปี 2050 และต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงาน อุตสาหกรรม ยานพาหนะ และการบริโภคอย่างเร่งด่วน
ปัจจุบันอุณหภูมิโลกได้ร้อนขึ้นแล้วเฉลี่ย 1.1 องศาเซลเซียส หากเปรียบเทียบจากอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงปี 1850 - 1900 ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลจากกิจกรรมต่างๆของเรา โดยทั่วโลกหวังที่จะควบคุมไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 - 2 องศาเซลเซียส ซึ่งหากไปถึงตัวเลขดังกล่าว เราอาจเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง แต่ดูเหมือนว่าการล่าช้าในลงมือแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะทำให้เราเข้าใกล้หายนะไปทุกที และแทบที่จะเป็นไปไม่ได้ที่จะยับยั้งไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศา
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์เผยในรายงาน IPCC ว่า โลกอาจร้อนขึ้นไปแตะ 3.2 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ จะทำให้โลกของเราเผชิญคลื่นความร้อน พายุรุนแรง การขาดแคลนน้ำ และภัยพิบัติอื่นๆแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตามก็ได้เผยว่า โลกยังมีโอกาสในการหลีกเลี่ยงหายนะที่เลวร้ายที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้
ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน และฟื้นฟูธรรมชาติ อีกทั้งยังอาจจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ รวมถึงปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆที่เรามีอยู่แล้วอย่างเร่งด่วน
ในการหลีกเลี่ยงหายนะ รายงานเผยว่า เราต้องร่วมมือกันไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกควรถึงจุดพีคในปี 2025 หรือ 3 ปีข้างหน้า และลดลงอย่างรวดเร็วสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงาน อุตสาหกรรม ยานพาหนะ และการบริโภคอย่างเร่งด่วน รวมถึงการออกแบบเมืองใหม่สำหรับระบบยานพาหนะในเมือง
"รัฐบาลบางประเทศ และผู้นำธุรกิจพูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งพวกเขากำลังโกหก และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเลวร้าย" Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติเผย
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เราจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในศตวรรษนี้ เพื่อจำกัดไม่ให้โลกร้อนขึ้นในภายภาคหน้า ซึ่งสิ่งสำคัญคือการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มุ่งหน้าสู่พลังงานสะอาด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไลฟ์สไตล์ และการบริโภค ก็จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง
วิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หมายถึงโลกที่จะไม่เหมือนเดิม ทั้งเรื่องสภาพอากาศ ความร้อน ความแห้งแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุฝน ไฟป่า และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งทุกภาคส่วนเป็นต้องมีการลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งปรับตัว วางแผนรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
See what three degrees of global warming looks like | The Economist
If global temperatures rise three degrees Celsius above pre-industrial levels, the results would be catastrophic. It’s an entirely plausible scenario, and this film shows you what it would look like.