ริ้วน้ำแข็งปกคลุมทะเลทรายซาฮาราอันร้อนแรง เป็นครั้งที่ 4 ในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ
ริ้วน้ำแข็งปกคลุมเนินทราย
ในทางตะวันตกเฉียงเหนือ
ของประเทศแอลจีเรีย
ริ้วน้ำแข็งปกคลุมเนินทรายในทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแอลจีเรีย
เมื่อวันอังคารที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ชาวเมืองไอน์เซฟรา (Ain Sefra) ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแอลจีเรีย ได้พบกับปรากฏการณ์น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อเนินทรายสีทองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายซาฮาราที่ด้านนอกเมือง ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งจนกลายเป็นสีขาวที่ดูประหลาดตาอย่างยิ่ง
การที่ทะเลทรายขนาดใหญ่ซึ่งขึ้นชื่อว่าแห้งแล้งและมีอุณหภูมิร้อนแรงติดอันดับโลก กลับมาถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้พบเห็นกันบ่อยนัก โดยในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 42 ปี หลังจากที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1979, 2016 และ 2018
เมืองไอน์เซฟราซึ่งมีฉายาว่า "ประตูสู่ซาฮารา" ตั้งอยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 1,000 เมตร ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาแอตลาส ใกล้กับพรมแดนด้านที่ติดกับโมร็อกโก แม้ในช่วงฤดูร้อนพื้นที่แถบนี้จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงเดือนมกราคม อุณหภูมิในเวลากลางวันจะลดต่ำลงจนเหลือเพียง 14 องศาเซลเซียสได้
ในคืนที่เกิดเหตุน้ำแข็งปกคลุมผืนทรายนั้น อุณหภูมิลงต่ำถึงจุดหนาวยะเยือกที่ 3 องศาเซลเซียส ทำให้นายคาริม บูเชทาทา ช่างภาพท้องถิ่นของเมืองไอน์เซฟรา สามารถจับภาพความผันผวนของภูมิอากาศในครั้งนี้ไว้ได้ในตอนเช้าของวันถัดมา ก่อนที่น้ำแข็งเหล่านี้จะละลายหายไปอย่างรวดเร็วในวันเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อหลายปีก่อนมีน้ำแข็งและหิมะตกลงมาปกคลุมบางส่วนของทะเลทรายซาฮาราหนากว่านี้ โดยในปี 2018 เกิดเหตุหิมะปกคลุมหนา 40 เซนติเมตร ซึ่งองค์การนาซาระบุว่าสามารถมองเห็นได้จากห้วงอวกาศ ส่วนในปี 2016 บางพื้นที่มีหิมะปกคลุมหนาถึง 1 เมตร
รูปช่างภาพถ่ายวิวน้ำแข็ง
ทะเลทรายซาฮาราจัดว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งซึ่งมีสภาพอากาศร้อน หรือ "ทะเลทรายแบบร้อน" (hot desert) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 8.6 ล้านตารางกิโลเมตรในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ในขณะที่เขตอาร์กติกและทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งขนาดกว้างใหญ่กว่า จัดเป็น "ทะเลทรายแบบเย็น" (cold desert)