มลพิษทางอากาศทำให้กระดูกมนุษย์อ่อนแอลง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพหัวใจ, ปอด, ดวงตา, ทารกในครรภ์ หรือแม้แต่สุขภาพจิต ล่าสุดยังพบว่าสามารถทำให้กระดูกเสื่อมจนเปราะหักง่ายก่อนวัยได้อีกด้วย
ทีมนักวิจัยนานาชาติ นำโดยสถาบันเพื่อสุขภาพโลกแห่งบาร์เซโลนา (ISGlobal) ของสเปน ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open โดยระบุว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ตอนต้นของเมืองที่มีฝุ่นละออง PM2.5 ในระดับสูง มีแนวโน้มที่สัดส่วนแร่ธาตุในกระดูกจะลดน้อยถอยลงกว่าปกติ
มีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของฝุ่น PM2.5 จากสถานที่ 23 แห่งโดยรอบเมืองไฮเดอราบัดของอินเดีย กับความหนาแน่นของแร่ธาตุในมวลกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังของชาวอินเดีย 3,700 คน ที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ซึ่งคนเหล่านี้มีอายุโดยเฉลี่ย 35.7 ปี
ผลปรากฏว่าพื้นที่ที่ทำการศึกษามีค่าเฉลี่ยของระดับ PM2.5 ในอากาศตลอดทั้งปีที่ 32.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยที่องค์การอนามัยกำหนดไว้ถึง 3 เท่า
ทีมผู้วิจัยพบว่า เมื่อฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นทุก 3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกของประชากรทั้งหญิงและชายจะลดลง 0.011 กรัมต่อตารางเซนติเมตรในกระดูกสันหลัง และลดลง 0.004 กรัมต่อตารางเซนติเมตรสำหรับกระดูกสะโพก ทั้งยังพบว่า ผงฝุ่นเขม่าดำ (Black Carbon) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของฝุ่น PM2.5 มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับมวลกระดูกที่ลดลงด้วย
แม้จะยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่มลภาวะทางอากาศทำให้สุขภาพของกระดูกอ่อนแอลง แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าการอักเสบภายในร่างกาย และภาวะไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเกิดจากฝุ่น PM2.5 อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะกระดูกเสื่อมและโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ได้
มลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครเข้าขั้นวิกฤตหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เผยแพร่เมื่อปี 2017 ชี้ว่ามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ในเมืองบอสตันของสหรัฐฯ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนถึงกว่า 86,000 รายต่อปี
ทีมวิจัยชุดดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า คนหนุ่มสาววัย 20-30 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงที่มวลกระดูกสะสมตัวจนมีความหนาแน่นและแข็งแกร่งสูงสุดในชีวิต อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศจนสะสมมวลกระดูกได้น้อยลง และมีความเสี่ยงจะเป็นโรคกระดูกพรุนสูงกว่าเดิมเมื่อมีอายุมากขึ้น