โลกจะเผชิญอุณหภูมิร้อนสุดขั้วตลอด 4 ปีข้างหน้า


สภาพภูมิอากาศโลกมีแนวโน้มจะร้อนแรงขึ้นตลอดช่วงระยะเวลา 4 ปีข้างหน้านี้ เนื่องจากวงจรสภาพอากาศตามธรรมชาติเข้าสู่ระยะที่ร้อนที่สุดช่วงหนึ่งในรอบไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เสริมให้ภาวะโลกร้อนจากฝีมือมนุษย์มีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

การทำนายสภาพอากาศโลกดังกล่าว มาจากผลการศึกษาทางสถิติที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ซึ่งระบุว่านับแต่ปีนี้เป็นต้นไป ทั่วโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับคลื่นความร้อนและภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นไปจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย

ดร. ฟลอเรียน ซีวีลเลก จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้บอกว่า ในช่วงสิบกว่าปีแรกของต้นศตวรรษที่ 21 คือระหว่างปี 1998-2010 ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของมนุษย์นั้นไม่ได้บรรเทาเบาบางลง แต่เราไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่รุนแรงมากนัก เพราะได้รับความเย็นชดเชยจากวงจรสภาพอากาศตามธรรมชาติที่ยังคงเป็นปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) อยู่

อย่างไรก็ตาม โลกได้เข้าสู่วงจรสภาพอากาศช่วงใหม่ที่มีความร้อนระอุมากขึ้นในปีนี้ ทำให้ปี 2018 มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาวะโลกร้อนในระยะยาวถึง 2 เท่า และจะพุ่งขึ้นอีกเป็น 3 เท่าในปีหน้า


ภาวการณ์เช่นนี้จะทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าอากาศบนภาคพื้นทวีปต่าง ๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดพายุไต้ฝุ่นและไซโคลนที่รุนแรง รวมทั้งน้ำท่วมฉับพลัน 

ส่วนการเกิดคลื่นความร้อน ไฟป่า และภัยแล้ง เช่นที่เกิดขึ้นกับซีกโลกเหนือในปีนี้นั้น เป็นไปได้ว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นในส่วนใดของโลก
"คนทั่วไปอาจยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากนัก แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษานี้น่าตกใจอย่างมาก และชี้ให้เราเร่งย้ำเตือนให้ความรู้เรื่องภาวะโลกร้อนที่ถูกต้องกับผู้คน เพื่อให้พวกเขาตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยด่วน" ดร.ซีวีลเลก กล่าว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ไขปริศนาวงกลมครอปเซอร์เคิล Crop Circles

มาทำความรู้จักกับ งู Green Mamba

เกาะงูนรก Ilha da Queimada Grandeเกาะมรณะแห่งบราซิลที่ทุกตารางนิ้วเต็มไปด้วยงู