โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทางออกของวิกฤติพลังงาน ?

(ภาพประกอบ)



กระแสการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อแก้วิกฤติพลังงาน กำลังเป็นเรื่องที่มีคนพูดถึงกันหนาหูมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนเมื่อเร็วๆ นี้ 2 ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตลอดจนกระทรวงพลังงาน ซึ่งมาร่วมรายการ “รู้ทัน...ประเทศไทย” ของ “เอเอสทีวี” ก็ออกมาย้ำชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น และมั่นใจได้ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็นทางออกของวิกฤติพลังงาน ได้แบบอุ่นใจอย่างแน่นอน
ดร.กอปร กฤตยากีรณ ที่ปรึกษา รมว.วิทยาศาสตร์แล้เทคโนโลยี และประธานคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมการก่อสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย กล่าวถึงภาพลักษณ์ในเชิงอาวุธทำลายร้ายสูงของนิวเคลียร์ ซึ่งยังติดอยู่ในใจของคนไทยว่า แม้การทำระเบิดปรมาณู และการผลิตกระแสไฟฟ้าต่างใช้ธาตุกัมมันตภาพรังสีคือ “ยูเรเนียม” เป็นเชื้อเพลิงเช่นเดียวกันจริง ทว่าความจริงแล้วกลับมีความเข้มข้นของสารต่างกันมาก
“การใช้ในเชิงพลังงานไม่ได้นำธาตุยูเรเนียมมาวางใกล้ๆ กันมาก จนทำให้เกิดการระเบิดได้ แต่เพื่อให้เกิดการแตกตัวของอนุภาคยูเรเนียม และคายความร้อนออกมาต้มน้ำให้เดือด และได้ไอน้ำไปปั่นกระแสไฟฟ้า ตามหลักการของโรงไฟฟ้าทั่วๆ ไปเท่านั้น” ที่ปรึกษา รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
ดร.กอปร อ้างสถิติด้วยว่า ในต่างประเทศมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามากว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการและระบบความปลอดภัยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกว่ามีความปลอดภัยมากที่สุดก็ว่าได้ โดยพบอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงจริงๆ เพียง 2 ครั้งเท่านั้นคือ ที่เชอร์โนบิลของสหภาพโซเวียต และเกาะทรีไมล์ไอส์แลนด์ของสหรัฐอเมริกา อันทำให้เกิดผู้เสียชีวิตเพียงหลักร้อยคนเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ต่างก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้นแล้ว อาทิ เครื่องบิน และรถยนต์ จะพบได้ว่า ต่างมีโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่า โอกาสเกิดอุบัติเหตุจาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาก
“เทคโนโลยีใหม่ๆ ตอนนี้มีการพูดกันแล้วว่า หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น แค่เพียงวิศวกรโยกสวิตซ์แค่ตัวเดียวก็เดินออกมาจากโรงงานได้เลย เพราะมันจะปิดเครื่องโดยอัตโนมัติ ไม่มีการหลอมละลายหรือการระเบิดตามมา” ดร.กอปร กล่าว และก็ยอมรับว่า มีขอบเขตของผลกระทบ จะครอบคุลมพื้นที่ เป็นบริเวณกว้างหากเกิดการรั่วไหลจริง
“หากมีการรั่วไหลขึ้นมาย่อมส่งผลถึงกันทั่วโลกไม่จำกัดแค่ที่ใด ที่หนึ่ง พูดกันจริงๆ แล้วทุกประเทศถือเป็นหลังบ้านของกันและกันหมดในแง่ของพลังงานนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ใช้” ดร.กอปร กล่าวซึ่งตีความได้ว่า ถึงแม้จะไม่เกิดการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีที่มีสาเหตุในประเทศไทยๆ ก็ไม่อาจหนีพ้นผลกระทบจากการรั่วไหลในที่อื่นๆ ได้เช่นกัน
สำหรับฝ่ายทำงานการเตรียมความพร้อมการก่อสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ซึ่งมี ดร.กอปร เป็นประธานคณะกรรมการนั้น ประกอบด้วยชุดทำงาน 6 ขณะคือ ด้านกฎหมาย ด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ด้านการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ ด้านการคุ้มครองความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ด้านการสื่อสารและการยอมรับของสาธารณะ และสุดท้ายคือ ด้านการเตรียมการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยแบ่งช่วงเวลาเป็น 7 ปีแรกจะเป็นการเตรียมความพร้อม และ 6 ปีหลังเริ่มการก่อสร้าง
“เรื่องของเทคโนโลยีและกำลังคน ไทยเรายังมีเวลาอีก 10 กว่าปีที่สามารถส่งคนไปศึกษาเตรียมความพร้อม ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ก็จะเข้ามาช่วย ตลอดจนมีหลักสูตรการผลิตคนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งในระยะยาวเราจะต้องยืนบนขาตัวเองให้ได้” ดร.กอปร ย้ำ
ส่วนสถานการณ์พลังงานของไทยในปัจจุบัน นายชวลิต พิชาลัย รอง ผอ.สำนักนโยบายและพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ให้รายละเอียดว่า มีการพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมากที่สุดราว 70% รองลงมาคือถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง 13% พลังงานน้ำเช่นจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 5% น้ำมันเตา 2 -3% ส่วนพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น ชีวมวล ลม ขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนเพียง 2%
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังต้องนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วย คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 500 เมกกะวัตต์ โดยเร็วๆ นี้จะมีบันทึกข้อตกลงเพิ่มจาก 3,000 เมกะวัตต์เป็น 5,000 เมกะวัตต์ และกำลังทำบันทึกข้อตกลงซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพม่าในระยะแรก 1,500 เมกกะวัตต์
นอกจากนี้ยังจะซื้อพลังงานไฟฟ้าจากมณฑลยูนนานของประเทศจีนอีก 3,000 เมกกะวัตต์ เพื่อสนองตอบความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น 1,200 -1,500 เมกกะวัตต์ ซึ่งคิดตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 4 -5% ขณะที่พลังงานทางเลือกก็จะไม่สามารถขยายได้จนเพียงพอต่อความต้องการได้
ทั้งนี้ ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ได้กำหนดให้มีส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ขึ้น 2,000 เมกกะวัตต์ในปี 2563 และอีก 2,000 เมกกะวัตต์ในปีถัดไป รวมแล้วใน 13 - 14 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังการผลิต 1,000 เมกกะวัตต์จำนวน 4 โรงด้วยกัน
“ก๊าซธรรมชาติของไทยเราจะใช้ได้เต็มที่ไม่เกิน 30 ปี จึงมีการกำหนดพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผนด้วย พร้อมๆ กับพลังงานทดแทนอื่นๆ แต่แล้วก็ล้วนแต่มีต้นทุนการผลิตสูงเกินไป ยกตัวอย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนต่อหน่วยถึงประมาณ 15 บาท ขณะที่ไฟบ้านที่ใช้กันทุกวันนี้มีต้นทุน 2 บาท/หน่วย” รอง ผอ.สนพ.กล่าว
นายชวลิต บอกด้วยว่า หากคำนวณโดยรวมค่าก่อสร้างโรงงาน เชื้อเพลิง และการกำจัดกากเชื้อเพลิงแล้ว ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะมีราคาต่ำที่สุดคือ 2.01 บาท/หน่วยเท่านั้น
ขณะที่ตัวเลือกอื่นๆ ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มของไทย นายชวลิต ชี้ว่า คือการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างชาติ หรือการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ซึ่งจะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ติดตามมา และยังเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งเวลานี้การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีต้นทุน 2.08 บาท/หน่วย โดยยังไม่รวมค่าการจัดการคาร์บอน
“สิ่งที่ต้องเร่งทำในขณะนี้คือการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่อาจต้องพบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอีก 13 ปีข้างหน้า โดยการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งในรูปเอกสารและรายการให้ความรู้ประชาชน” นายชวลิต อธิบาย
อย่างไรก็ตาม ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ร่วมรายการอีกรายหนึ่งซึ่งต่อสายสนทนาทางโทรศัพท์ ตั้งข้อสังเกตในมุมกลับบ้างว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจไม่ได้มีความคุ้มทุนและมีความปลอดภัยจริงดังอ้างก็ได้
ข้อสังเกตที่น่าสนใจเช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจนำมาซึ่งปัญหางบประมาณก่อสร้างบานปลาย จากอัตราดอกเบี้ยจำนวนมากดังที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ แต่หากยืนยันทำจริง ก็ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนได้รับรู้ และต้องทำให้ระบุตัวผู้รับผิดชอบได้ด้วย
นอกจากนั้นในช่วงปี 2543 เป็นต้นมาทั่วโลกต่างชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปมาก เหลือเพียงประมาณ 5 โรง/ปีเท่านั้น เนื่องจากความเกรงกลัวต่อการเกิดอุบัติเหตุเหมือนในอดีต และการเปิดเสรีด้านพลังงานในยุโรปตะวันตก ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์มีต้นทุนสูงไม่สามารถแข่งขันได้ โดยจากปี 2543 เป็นต้นมา ทั่วโลกเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฉลี่ยถึงปีละ 1 ครั้งเลยทีเดียว
“นอกจากนั้น เมื่อพูดเรื่องการกำจัดกาก ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะเก็บในเหมืองแร่โปแตสฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ต้องมีการรับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ว่าจะเห็นด้วยไหม ซึ่งแม้แต่นายโมฮัมหมัด เอลบาราเด ผอ.ไอเออีเอ ยังยอมรับว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ปลอดภัย 100% เพียงแต่มีความคุ้มค่าที่จะเสี่ยงใช้เท่านั้น” ดร.เดชรัต ย้ำ
ด้าน ดร.กอปร ปฏิเสธข้อสังเกตนี้ว่า ไม่คิดว่ารัฐบาลจะเลือกใช้พื้นที่เหมืองแร่โปแตสเซียมเป็นที่เก็บกากเชื้อ เพลิงจริง ส่วนเรื่องการกำจัดกากเชื้อเพลิงก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากหรือน่ากังวล อย่างที่คิดกันด้วย
“ญี่ปุ่นเป็นปะเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาแล้ว 50 ปี แต่เพิ่งมีโรงเก็บกากเชื้อเพลิงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งกากเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วสามารถนำไปเก็บไว้ในบ่อพัก ซึ่งมีน้ำหล่ออยู่ข้างๆ เตาปฏิกรณ์ได้นาน 3 -10 ปีเพื่อให้รังสีอ่อนตัวลง จากนั้นจึงค่อยย้ายเก็บไปไว้ในบ่อพักภายในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ต้องมีบ่อพักที่อื่น ซึ่งเรามีเวลาเก็บได้ถึง 50 ปี” ประธานคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระบุ
สุดท้ายนี้ ดร.กอปร แจกแจงเพิ่มว่า ขณะนี้ทั่วโลกได้มีใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วทั้งสิ้น 437 โรงใน 31 ประเทศ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 30 โรง อนุมัติแผนและงบประมาณแล้ว 74 โรง โดยใน 15 ปีข้างหน้าจะมีข้อเสนอก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีกกว่า 200 แห่งทำให้มียอดรวมเป็นอีกเท่าตัวของปัจจุบัน เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ ราคาพลังงานปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น 3 เท่า
ในเวลาเดียวกันยังมีการรณรงค์ลดภาวะเรือนกระจก ซึ่งมีความกังวลกันว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุ ทำให้ต้องออกกฎใหม่ซึ่งอาจมีความเข้มงวดด้านการจัดการคาร์บอนมากขึ้น ตลอดจนเทคโนโลยีที่ปลอดภัยมากขึ้น อันจะช่วยลดรายจ่ายด้านระบบความปลอดภัยลงได้อีกส่วนหนึ่ง ทำให้ต้นทุนพลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้ไม่มีความคุ้มทุนดังที่ ดร.เดชรัต อ้าง
“ข้อมูลของ ดร.เดชรัต อาจจะล่าช้าไปสัก 5 ปี จริงอยู่ที่เคยมีการชะลอตัวลงหลังการเกิดอุบัติเหตุที่ทรีไมล์ไอส์แลนด์ช่วง ปี 2523 และเวลานั้นยังมีตัวเลือกด้านพลังงานอื่นๆ อยู่ด้วย แต่ในช่วง 3 -5 ปีมานี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เริ่มกลับมานิยมอีกครั้ง เพราะมีต้นทุนเทคโนโลยีถูกลงขณะที่ยังปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มีข้อมูลอ้างอิงเป็นประเทศๆ ได้เลย” ดร.กอปร กล่าวในที่สุด

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ไขปริศนาวงกลมครอปเซอร์เคิล Crop Circles

มาทำความรู้จักกับ งู Green Mamba

เกาะงูนรก Ilha da Queimada Grandeเกาะมรณะแห่งบราซิลที่ทุกตารางนิ้วเต็มไปด้วยงู